เขาขุนพนมโฮมสเตย์

(มองผ่านประตูเข้าและออกด้านหน้าโฮมสเตย์ จะเห็นยอดเขาหลวง)

เขาขุนพนมโฮมสเตย์

มีโอกาสเข้าพักที่ เขาขุนพนมโฮมสเตย์ บริเวณเทือกเขาหลวง อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช จากการเข้าร่วมกิจกรรม “ดูผีเสื้อเขาหลวง...เขาขุนพนม” จัดโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ ๒๘-๒๙ เมษายน ๒๕๕๗ ประทับใจทั้งกิจกรรมที่จัดโดยศูนย์วิทย์คอนฯ และ ที่พักเป็นกันเองจากเจ้าของเขาขุนพนมโฮมสเตย์

(ลุงแป๊ะขวัญใจเด็กๆ)



พี่แป๊ะ และ พี่ทิพย์ สองสามีภรรยาที่เป็นเจ้าของที่พัก ดูแล จัดการ บริการ ทำอาหารการกินให้ผู้มาพัก ฝีมือการทำอาหารของฝ่ายภรรยา ทำให้ฉันและผู้เข้าพักทุกคนต่างเจริญอาหาร พี่แป๊ะเล่าให้ฟังถึงจุดเปลี่ยนที่หันมาทำที่พักรับรองผู้สนใจศึกษาธรรมชาติของพื้นที่เขาขุนพนมว่า เมื่อก่อนทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายกิจกรรมด้านส่งเสริมการขายของบริษัทเบียร์แห่งหนึ่งซึ่งมีสาขาอยู่ที่นครศรีธรรมราช ทำให้ตัวเองคุ้นเคยกับงานบริการ พบปะผู้คน ก่อนหน้ามาทำงานด้านส่งเสริมการขาย ในวัยหนุ่มประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๙ เคยทำงานที่เกาะสมุย ตอนนั้นที่พักที่สมุยราคาคืนละ ๖๐ บาท สนุกสนานกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำอยู่ปีเศษจึงเลิกทำเพราะมาแต่งงานอยู่กินกับภรรยาคู่ชีวิตตอนอายุสัก ๒๖ “แฟนผมดึงมาแต่งงาน เลยเลิกทำงานที่เกาะสมุย” หันมาถามพี่ทิพย์ก็ตอบว่า “ใช่ค่ะ พี่ดึงมาแต่งงาน” 

สามถึงสี่ปีก่อนเริ่มคิดจะทำโฮมสเตย์ คนแถวนั้นต่างบอกว่า “บ้า” เพราะตอนนั้นพรหมคีรี เขาขุนพนมยังเป็นป่า ใครจะมาพักมาเที่ยว “ผมคิดว่าถ้าเราไม่ทำ ไม่สร้าง ไม่มีคนมา คนก็จะยังคิดว่าที่นี่ไม่มีที่เที่ยว ใครจะมา” สุดท้ายโฮมสเตย์ที่เกิดจากความกล้าสร้างของพี่แป๊ะกลายเป็นรูปเป็นร่าง มีผู้เข้าพักไม่ขาดสาย วันไหนไม่มีคนมาพัก เจ้าของต่างพากันเหงาที่ไม่ได้ทำงานบริการ ไม่ได้พบปะกับคนแปลกถิ่น ผู้มาเยือนที่ต่างทำให้ทั้งคู่ปรับตัวกัน ฝ่ายภรรยาเล่าว่า “ตอนแรกที่ทำ วันแรกที่มีแขกเข้าพัก พี่กับแฟนก็คุยกัน กังวลว่าจะรับมือไหวไหม จะทำได้ไหม ก็คิดนะตอนนั้น แต่ก็ผ่านตรงนั้นมากันได้” 

ฉันมีโอกาสฟังเรื่องเล่าของสองสามี-ภรรยา ทั้งคู่มีความสุขมากกับช่วงระยะเวลาที่ได้พบปะกับผู้มาพักแบบครอบครัวบ้าง แบบมาเดี่ยว มาคู่บ้าง หลายครอบครัวลูกๆ ติด “ลุงแป๊ะ” ขวัญใจของเด็กๆ จนต้องกระจองอแงให้พ่อแม่พามาทุกปี หรือบางคนติดแจตามติดถึงในครัวให้ทำอาหารพิเศษให้กิน พี่ทิพย์มีฝีมือในการปรุงอาหารชั้นยอด หากเป็นช่วงปิดเทอม(ภรรยารับราชการครู)เธอจะเป็นคนลงมือทำอาหารท้องถิ่นทุกอย่างบริการผู้เข้าพักด้วยตัวเองทุกรายการอาหาร “แม่ครัวที่นี่จ้างทีแพง ถ้าแฟนพี่ต้องไปทำงาน ก็ต้องจ้างคนอื่น มื้อละ ๕๐๐ บาท แพง แต่จำเป็นก็ต้องจ้าง เพราะคนมาทำให้เขาก็ต้องหยุดไปกรีดยางทั้งวัน แต่ถ้าจ้างบ่อยๆ ไม่ไหวเหมือนกัน” พี่แป๊ะกล่าว

พี่ทิพย์เล่าเพิ่มเติมอีกว่า การบอกว่าเป็น “โฮมสเตย์” ต้องทำให้คนที่มาพักรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน การที่พี่ไม่เอาโทรทัศน์ไว้ในห้องพัก เพราะต้องการให้ทุกคนมานั่งชมโทรทัศน์รวมกันที่ตรงโต๊ะกินข้าว ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ในห้องของตัวเอง มาตรงนี้เลย มีโต๊ะกินข้าวกลาง มีโต๊ะตั้งน้ำชา กาแฟ น้ำดื่มไว้ให้” สอดคล้องกับคติ คำคมของพี่แป๊ะที่บอกว่า “อยากให้มนุษย์อยู่ร่วมกันฉันท์มิตร อยากให้ทุกชีวิตอยู่รวมกันฉันท์เพื่อน” 

ฉันเป็นคนรักการกินอาหารท้องถิ่น เมื่อพี่ทิพย์ทำอาหารได้เลิศล้ำ ทำให้ต้องกินเกินอิ่มเพราะอร่อยลงตัวทุกรายการและทุกมื้ออาหาร ยิ่งการทำอาหารธรรมดาให้อร่อย ฉันถือว่า “เสน่ห์ปลายจวักของพี่ทิพย์ไม่ธรรมดา” เริ่มจากทุกรายการที่เป็นจานเด็ดคือน้ำพริก ที่รสชาติอร่อยจนอาจเผลอกินข้าวหมดหม้อ จานเด็ดอีกรายการคือ “แกงไก่ใส่หยวกกล้วยหิน” ทำไมต้องใช้หยวกกล้วยหิน พี่แป๊ะเล่าเคล็ดลับว่า “หยวกกล้วยหินเป็นกล้วยที่เอาไว้ให้นกกรงหัวจุกกิน จะใช้กล้วยชนิดไหนก็สู้กล้วยชนิดนี้ไม่ได้ รสชาติจะต่างกัน ความอร่อยสู้หยวกกล้วยหินไม่ได้” 

อาหารอย่างขนมจีนน้ำยาแกงใต้ ผักเคียงที่กินกับขนมจีนก็หลากหลาย ทั้งใบมะม่วงหิมพานต์ กะหล่ำปลี ปลีกล้วย ยอดมะกอก ใบส้มป่อยที่ลักษณะคล้ายใบชะอมแต่รสชาติเปรี้ยวน้อยกว่าใบมะขาม เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทย์คอนฯ บอกว่าใช้ใส่กับต้มปลาจะอร่อยล้ำ ให้รสชาติเปรี้ยวหวานในตัว หยิบมาเคี้ยว รสชาติเปรี้ยวไม่โดดแบบใบมะขาม มื้อค่ำวันที่ ๒๙ เมษายน ภรรยาพี่แป๊ะจึงต้มปลานิลใส่ใบส้มป่อยให้ฉันและเพื่อนอีกสองคนกินกันเหมือนครอบครัว รสชาติเด็ดจริง ซดน้ำเหลือแต่ตัวปลา เมนูวันนั้นได้กินทั้ง ผัดผักบุ้งใส่กะปิ แกงไก่ใส่หยวกกล้วย(แต่วันนี้ไม่ได้หยวกกล้วยหิน ทำให้เห็นถึงข้อแตกต่างทางรสชาติ ตอนแรกพี่ทิพย์อิดออดไม่อยากแกงให้กิน เพราะไม่มีหยวกกล้วยชนิดเฉพาะ เธอเกรงรสชาติจะไม่ดี กลัวจะไม่อร่อย แต่วันนี้รสแกงเข้มข้น หยวกกล้วยต่างชนิดมันรสชาติของหยวกต่างกันจริงๆ โดยทั่วไปเมนูนี้จะใช้หยวกกล้วยน้ำว้า)

(ผักสดสำหรับกินกับน้ำพริก)

(น้ำพริกเป็นอีกหนึ่งเมนูของที่นี่ ขึ้นชื่อ)

(ผัดผักบุ้งใส่กะปิ)

(แกงไก่ใส่หยวกกล้วย)

(ปลาทูทอด)

(ต้มปลานิลใส่ใบส้มป่อย)



พื้นที่ในโฮมสเตย์มีต้นมังคุดปลูกเอาไว้หลายต้น คล้ายสวน มีเรือนพักเรียกว่า “เรือนมังคุด” “เรือนลางสาด” เจ้าของที่พักบอกว่าฤดูกาลที่มังคุดสุกเต็มต้นประมาณกันยายนหรือตุลาคมของทุกปี ใครเข้าพักในช่วงนี้เก็บและสอยมังคุดกินฟรีได้ตามอัธยาศัย ถือว่าเป็นอภินันทนาการแก่ผู้เข้าพัก พี่แป๊ะบอกว่า “เอาไปขายกิโลละ ๓ บาท ให้คนมาพักกินดีกว่า ปล่อยทิ้งไว้ก็เสียเฉยๆ ปีๆ เก็บมังคุดให้ผลผลิตประมาณ ๕-๖ ตัน” ฉันจึงต้องลงบันทึกไว้ว่า จะมาเยือนอีกครั้งช่วงหน้ามังคุดสุกเต็มที่

ระหว่างนั่งคุยกับพี่ทิพย์เรื่องการทำอาหาร เรื่องชีวิต เรื่องทั่วไปต่างๆ จึงถามเรื่องมังคุด ผลไม้สวรรค์ของหลายคนว่ามีวิธีการเก็บ ดูแล หรือเลือกมังคุดอย่างไร “มังคุดที่ฉีดยาฆ่าแมลงผิวของมังคุดจะเรียบมัน ส่วนมังคุดที่สีผิวขรุขระคนไม่ค่อยชอบซื้อกิน ทั้งมังคุดขี้เหร่สารเคมีพวกยาฆ่าแมลงน้อย มังคุดที่ผิวสากๆ เปลือกจะบาง เนื้อมังคุดหวาน ส่วนพวกผิวเรียบมักจะไม่ค่อยหวาน มังคุดก็คล้ายกับเงาะ ถ้าชาวสวนเงาะจริงๆ จะเลือกที่ไม่สวยไม่มีขนเพราะรสชาติจะหวาน กรอบ เงาะที่มีขนสวยชาวสวนจะไม่กิน”

(มังคุดกำลังออกช่อ)

(พริกขี้หนูในโฮมสเตย์)

(ยอดผักเหลียงในโฮมสเตย์ เอาไว้ทำอาหาร)

(ยอดชะมวง)



เธอยังเล่าว่าจะสังเกตและรู้ได้อย่างไรว่ามังคุดมีเม็ดหรือมีเนื้อกี่ชิ้นในมังคุดหนึ่งผล “ให้สังเกตจากกลีบที่อยู่ตรงก้นลูกมังคุด ถ้ามีกลีบใหญ่แสดงว่ากลีบที่ใหญ่ที่สุดคือจำนวนเม็ด กลีบที่เล็กลงมาจะเป็นจำนวนกลีบที่มีแต่เนื้อมังคุด ส่วนที่อยู่รอบๆ ขั้วของมังคุดเรียกว่า หูมังคุด” 

การเดินทางครั้งนี้ทำให้รู้ถึงธรรมชาติของผลไม้ ผักพื้นบ้าน อาหารการกินท้องถิ่น การบริการนักท่องเที่ยวศึกษาผืนป่าและธรรมชาติ การได้นั่งคุยกับเจ้าของ “เขาขุนพนมโฮมสเตย์” ทำให้เกิดความกล้าที่ต้องบ้าถึงจะสร้างสรรค์ออกมาได้ของพี่แป๊ะ รวมถึงการใช้ชีวิตของสามี-ภรรยาที่กินอยู่ง่าย ใช้ชีวิตธรรมดา รู้สึกชื่นชมและหลายอย่างที่ได้คุยด้วย (บางเรื่องถ่ายทอดไม่หมด) รู้สึกดีที่ได้คุยกับคนธรรมดา แรงบันดาลใจจากคู่ชีวิตคู่นี้ไม่ต้องปีนบันได

(อาหารเช้าก่อนกลับ หมี่เส้นขนมจีน พี่ทิพย์ซื้อมาจากตลาดเช้า อร่อยมาก)

(ข้าวยำ เป็นอีกหนึ่งอาหารเช้า ที่พี่ทิพย์ซื้อมาไว้ให้กิน เป็นอาหารเช้าก่อนกลับ อร่อยมากเช่นกัน)



บันทึกกาลเดินทาง “ดูผีเสื้อเขาหลวง...เขาขุนพนม” ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช เขาขุนพนม อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ ๒๘-๒๙ เมษายน ๒๕๕๗

ออกเดินทางโดย นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ 

ผู้สนใจเข้าพักที่ เขาขุนพนมโฮมสเตย์ ติดต่อ ๐๘๘  ๑๖๗  ๕๕๖๔ ธรรมชาติของพรหมคีรียังอุดม มีทั้งป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ น้ำตก เป็นอีกพื้นที่ของคนรักการปั่นจักรยาน ไม่ค่อยมีรถ สองข้างทางเต็มไปด้วยธรรมชาติ ขุนเขา ป่าไม้ และธารน้ำ ธรรมชาติสีเขียวสบายตา ภาคใต้ของไทยมีเสน่ห์ต่างจากจังหวัดในภาคอื่น ความรู้สึกส่วนตัวภาคใต้เป็นภาคที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ความน่าหลงใหลล้ำลึก