เที่ยวเพลิน เพลิน ดูผีเสื้อเขาหลวง เขาขุนพนม

 

เที่ยวเพลิน เพลิน ดูผีเสื้อเขาหลวง เขาขุนพนม

บัญญัติ ลายพยัคฆ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช กล่าวไว้ในกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ครอบครัว (Family Science Camp) ซึ่งจัดโดยศูนย์วิทย์เมืองคอน (ชื่อเรียกย่อๆ ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช) ว่า “การเรียนวิทยาศาสตร์คือการเสาะแสวงหาความรู้จากธรรมชาติ”

(ท้องนาสาธิตของศูนย์วิทย์เมืองคอน)


ศูนย์วิทย์เมืองคอนจึงจัดทริปพาเด็กและผู้ปกครองไปดูผีเสื้อเขาหลวง เขาขุนพนม ซึ่งลือชื่อว่าป่าฝนแดนใต้มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทย มีน้าเกรียง หรือ เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ผู้เขียนหนังสือแมลง/ผีเสื้อเมืองไทย/ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผีเสื้อ/คอลัมนิสต์และนักเขียนอิสระ เป็นวิทยากรและนำชม กิจกรรมดังกล่าวเป็นไปตามแนวคิดที่ว่า “เราสามารถนำเทคโนโลยีมาไว้ที่เขาขุนพนมได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทดแทนกันไม่ได้นั่นก็คือ เราไม่สามารถนำธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และชุมชนอันมีค่าของเขาขุนพนมไปไว้ที่อื่นได้” 

ศูนย์วิทย์เมืองคอนเปิดดำเนินการเมื่อปี 2538 มีคณะครู นักเรียน เด็ก ผู้ปกครองและผู้สนใจทั่วไป รวมถึงสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมเกือบหนึ่งล้านคน เป็นดินแดนวิทยาศาสตร์ธรรมชาติซึ่งเป็นที่สนใจอันดับต้นๆ ของประเทศ เฉพาะกิจกรรม “เที่ยวเพลิน เพลิน Play & Learn @ ศูนย์วิทย์เมืองคอน” คือชื่อผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัล “กินรี” ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 นับจากการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 8 เมื่อปี 2553 และครั้งที่ 9 เมื่อปี 2556 

กิจกรรมดูผีเสื้อเขาหลวง เขาขุนพนม มีผู้ปกครองและเด็กเข้าร่วมทั้งหมด 35 คนจาก 12 ครอบครัว พวกเขาเดินทางมาจากพัทลุง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สงขลา สุราษฎร์ธานี มีทั้งเด็กที่เรียนในระบบและเด็กที่เรียนแบบโฮมสคูล

(น้าเกรียง หรือ ลุงเกรียง ของเด็กๆ ให้ข้อมูลความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับผีเสื้อ เด็กๆ สนุก ได้ความรู้แบบเพลิน เพลิน)



เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ วิทยากรให้ข้อมูลพื้นฐานเรื่องผีเสื้อและการดูผีเสื้อว่า ฤดูกาลที่เหมาะแก่การดูผีเสื้อและมีผีเสื้อเยอะคือช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมของทุกปี ผีเสื้อที่เจอถ้าต่างฤดูกาลก็ต่างชนิดกัน บริเวณที่พบผีเสื้อได้ง่ายคือพื้นที่โล่งกลางป่า มีแหล่งน้ำเพราะผีเสื้อกินอาหารที่เป็นของเหลว มีแดดส่องถึง หากเป็นพื้นที่แห้งผีเสื้อจะปล่อยฉี่ออกมาละลายพื้นที่ที่แห้งเพื่อกินของเหลว ผีเสื้อแต่ละชนิดก็กินอาหารเฉพาะชนิดของตัวเอง ดังนั้นหากพืช ต้นไม้ หรือวัชพืชที่เป็นอาหารของผีเสื้อชนิดนั้นๆ ไม่มี ผีเสื้อจะอพยพไปที่อื่น และหากหาอาหารของตนไม่ได้ผีเสื้อชนิดนั้นก็จะสูญพันธุ์ไป ลักษณะเฉพาะของผีเสื้อที่นครศรีธรรมราชจะไม่มากันเป็นฝูงเหมือนที่แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี แต่ผีเสื้อที่เมืองคอนมีความหลากหลายกว่า “กิจกรรมนี้จะทำให้เด็กและผู้ปกครองเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับธรรมชาติว่าธรรมชาติมีความสำคัญและเกื้อกูลกันเช่นไร” วิทยากรกล่าว ผีเสื้อที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพบบริเวณน้ำตกพรหมโลก อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ในวันร่วมกิจกรรมได้แก่ ผีเสื้อสะพายฟ้า ผีเสื้อเณร ผีเสื้อเหลืองหนามประดับเพชร ผีเสื้อเหลืองสยามธรรมดา ผีเสื้อม้าลาย เป็นต้น เด็กและผู้ปกครอง วิทยากร เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน สนุกสนานกับผีเสื้อหลากชนิดที่พบว่าคือชนิดไหน การออกแบบกิจกรรมทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมทั้งตัวกิจกรรมระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง และระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง วิทยากร และสตาฟฟ์ หลังกิจกรรมในภาคกลางวันจบสิ้นลง ภาคค่ำหลังรับประทานอาหารเย็นร่วมกันที่เขาขุนพนมโฮมสเตย์ ทุกคนมาร่วมสรุปกิจกรรมประจำวันร่วมกัน และดูดาวยามค่ำคืนที่บริเวณลานดูดาวของศูนย์วิทย์เมืองคอน เด็กบางคนจากที่กำลังง่วง รู้สึกตื่นเต้น ลืมง่วงเป็นปลิดทิ้ง เพราะต่างต้องการค้นหาจักรวาลเบื้องบน ว่าดวงดาวที่เห็นเหนือฟ้าและค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นประกอบด้วยดาวเคราะห์อะไรบ้าง

(ให้ข้อมูลกันก่อนออกสู่พื้นที่จริง)

(พี่แจง ทานตะวัน เขียวน้ำชุม เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ศูนย์วิทย์เมืองคอน ทำกิจกรรมกับผู้ร่วมงานทุกคน-มีความสุข)


การจัดกิจกรรมในลักษณะครอบครัวแบบนี้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ปกครองและเด็ก สมัยก่อนศูนย์วิทย์เมืองคอนจัดเฉพาะช่วงเด็กปิดเทอม หลังจากได้รับความนิยมมากขึ้นจึงจัดกิจกรรมทุกเดือน แต่ละเดือนมีกิจกรรมแตกต่างกันออกไป โดยเน้นการมีส่วนร่วมของคนในครอบครัว ต้องทำกิจกรรมร่วมกัน และไม่รับเด็กเข้าร่วมในลักษณะเด็กฝาก อย่างน้อยเด็กทุกคนต้องมีพ่อ แม่ น้า ย่า หรือยาย มาด้วย “ผลตอบรับจากค่ายครอบครัวดีมาก ผู้ปกครองแจ้งมาว่าลูกของพวกเขาพอกลับไปบ้านก็ช่วยตัวเองได้ ทำให้ลูกเปลี่ยนนิสัย ส่วนผู้ปกครองได้เรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปด้วย ทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้งระบบ ไม่ใช่เอาเด็กมาปล่อยไว้ พอกลับไปอธิบายให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองฟัง ก็จะมองภาพไม่ออก ไม่เข้าใจกระบวนการ” บัญญัติ ลายพยัคฆ์กล่าว

(หลายครอบครัวลงเล่นน้ำบริเวณน้ำตกพรหมโลก หลังจากพบผีเสื้อกันแล้ว)

 

 (ผีเสื้อสะพายฟ้าที่พบที่น้ำตกพรหมโลก เขาหลวง)


นอกจากกิจกรรมค่ายครอบครัวแล้ว ศูนย์วิทย์เมืองคอนออกแบบ 4 กิจกรรมหลักให้ผู้สนใจได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาวิทยาศาสตร์ที่พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชีวาของศูนย์ ได้แก่ 1.การเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ และสนใจทั่วไป จะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงในการเยี่ยมชม ออกแบบให้เด็กที่มาเรียนรู้ด้วยตนเองแล้วไปต่อยอด 2.ค่ายวิทยาศาสตร์ เป็นบริการที่ชัดเจนที่สุดของศูนย์ เน้นการสร้างเจตคติ ไม่เน้นความรู้แต่เน้นให้เด็กรักวิทยาศาสตร์ ใช้ห้องเรียนธรรมชาติและทุกสิ่งที่มีในชุมชน 3.กิจกรรมการศึกษา เช่น การประกวด แข่งขัน วิจัย ทำโครงการต่างๆ ตัวที่เด่นคือ การทำโครงการช่วยเหลือสังคม โครงการจากต้นสายสู่ปลายน้ำ และโครงการนักสืบสายน้ำ เป็นต้น 4.งานบริการวิชาการ ระยะแรกเป็นการอบรมครู สร้างความเข้าใจกับครูสอนวิทยาศาสตร์ ต่อมาจึงเน้นเรื่องการทำวารสาร และสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุค ยูทูบ เพื่อให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย


ค่ายครอบครัวตอน “ดูผีเสื้อเขาหลวง เขาขุนพนม” ประสบความสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ที่ผู้อำนวยการศูนย์วิทย์คอนกล่าวกับทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมว่า “เราอยากให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของคนทั่วไป ใครๆ ก็เข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้ ดังนั้นทุกคนที่ก้าวเข้ามายังศูนย์วิทย์เมืองคอน จะรับรู้ว่า ณ ที่แห่งนี้ คือ พื้นที่เล็กๆ ความสุขแห่งการเรียนรู้” พื้นที่แห่งนี้คือดินแดนวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่ทั้งสวยงาม สร้างวิธีคิดตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ให้กับทุกคนที่เดินทางมาทำความรู้จัก 

นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ / รายงาน



(บรรยากาศรอบบริเวณน้ำตกพรหมโลก วันดูผีเสื้อ)

 

(หนูน้อยวาดภาพผีเสื้อที่ตัวเองเจอ)

 

(น้าเกรียง ของเด็กๆ พร้อมผีเสื้อกระดาษ)

 

(หนังสือผลงานของน้าเกรียง)


ที่มา : http://www.oknation.net/blog/nonglakspace/2014/05/10/entry-1