ดูผีเสื้อเขาหลวง ความสุขแห่งการเรียนรู้

ไม่เพียง "ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช" ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2538 จะถือเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งแรกในภูมิภาค ที่กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 แล้วนั้น ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรี ธรรมราช หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า "ศูนย์วิทย์เมืองคอน" ที่ตั้งอยู่เชิงเขาขุนพนม และธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ใน อ.พรหมคีรี ยังกลายมาเป็นพื้นที่เรียนรู้เล็กๆ ที่ชวนให้ผู้คนหลงใหลใน "วิทยาศาสตร์" มากขึ้น

ช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา ศูนย์วิทย์เมืองคอนจัดกิจกรรม "เที่ยวเพลิน เพลิน Play&Learn @ ศูนย์วิทย์เมืองคอน" ชวนพ่อแม่จูงมือลูกๆ มาร่วมทริป "ดูผีเสื้อเขาหลวง-เขาขุนพนม" ชมความสวยงาม และเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านการชมผีเสื้อ และธรรมชาติของป่าฝนภาคใต้ ที่ถือว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย 

โดยมี อาจารย์เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผีเสื้อเมืองไทย พร้อมกับพี่ๆ สต๊าฟศูนย์วิทย์เมืองคอนคอยดูแล มอบความสนุกสนานตลอด 2 วัน 1 คืน 

"ศูนย์วิทย์เมืองคอน" จัดให้ทั้ง 11 ครอบครัวที่เข้าร่วมกิจกรรมดูผีเสื้อครั้งนี้ เข้าพักที่ "เขาขุนพนมโฮมสเตย์" กิจการของคนในท้องถิ่น ตั้งอยู่ท่ามกลางสวนผลไม้ ไม่ไกลจากศูนย์วิทย์มากนัก 

หลายครอบครัวคุ้นหน้าคุ้นตากันดีกับพี่ๆ สต๊าฟของศูนย์วิทย์ เพราะเคยเข้าร่วมกิจกรรม "Family Science Camp" ที่ทางศูนย์วิทย์จัดมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ 

ขณะที่บางครอบครัว แม้จะหน้าใหม่ แต่ก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพี่สต๊าฟ และครอบครัวที่เคยมาร่วมกิจกรรม โดย เฉพาะเด็กๆ ตัวน้อยที่พากันเล่นซนอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเสียเวลาผูกมิตรนาน

กิจกรรมที่เด็กๆ รอคอย คือ วอล์ก แรลลี่ ชมธรรมชาติ และผีเสื้อ ที่น้ำตกพรหมโลก ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง 

ที่นั่น นอกจากจะได้เรียนรู้เกร็ดต่างๆ เกี่ยวกับธรรมชาติของป่าฝนแล้ว เด็กๆ ยังได้พบกับผีเสื้อนานาชนิด ที่อาจารย์เกรียงไกร และเหล่าสต๊าฟชี้ชวนให้ดู ตั้งแต่ ผีเสื้อสะพายฟ้า ผีเสื้อหนอนใบกุ่มธรรมดา ผีเสื้อเหลืองสยามธรรมดา ผีเสื้อแผนที่เล็ก ผีเสื้อเหลืองหนามประดับเพชร 

ก่อนให้เด็กๆ นั่งวาดภาพ เติมแต่งผีเสื้อในจินตนาการของแต่ละคน ท่ามกลางเหล่าพ่อแม่ และพี่สต๊าฟที่คอยชี้แนะและให้กำลังใจอยู่ใกล้ๆ

อาจารย์เกรียงไกร หรือ "ลุงเกรียง" ของเด็กๆ เล่าว่าจะพบผีเสื้อได้ตามที่โล่งตามแหล่งน้ำ หรือพื้นที่ที่มีน้ำซึม แดดส่องถึง 

ลุงเกรียงบอกเคล็ดลับว่า การดูผีเสื้อนั้นควรแต่งกายด้วยสีที่กลมกลืนกับธรรมชาติ เช่น สีเขียว หรือสีน้ำตาล ขณะดูจะต้องใช้ความละเอียดพอสมควรในการแยกแยะชนิดหรือพันธุ์ เพราะสีของปีกผีเสื้อมาจากเกล็ดที่ซ้อนกันอยู่ แต่ผีเสื้อบางตัวจะมีเกล็ดที่ไม่มีสี คล้ายปริซึม คอยให้สีและแสงที่แตกต่างขึ้นอยู่กับมุมมอง นักดูผีเสื้อจึงต้องดูให้ครบทุกมุม หรือถ่ายภาพเก็บไว้อย่างละเอียด เพื่อมาแยกแยะชนิดกันอีกครั้ง

หลังจากวาดภาพผีเสื้อ และเล่นน้ำตกพรหมโลกในช่วงบ่ายจนเปียกปอนกันทั้งเด็กๆ และผู้ปกครอง หลังเสร็จมื้อเย็นที่เขาขุนพนมโฮมสเตย์ ศูนย์วิทย์เมืองคอนมีกิจกรรมดูดาว ผ่านกล้องโทรทัศน์ เรียกความสนใจจากทั้งเด็กๆ และผู้ปกครอง ที่มาเข้าคิวชมดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี ที่ส่องสว่างอยู่บนท้องฟ้า โดยมีพี่สต๊าฟศูนย์วิทย์คอยให้ความรู้อย่างใกล้ชิด ก่อนเข้าสู่การพูดคุยสรุปบทเรียนในช่วงค่ำ 

นางกาญจณา แกล้วทนง แม่ของ "น้องปาย นวฬพรรษ" และ "น้องปัว นวณภัทร" ที่เคยพาลูกสาวทั้ง 2 คนมาร่วมกิจกรรม "Family Science Camp" ครั้งที่ 5 กับศูนย์วิทย์เมืองคอนมาก่อน เล่าว่ารู้จักกิจกรรมนี้จาก โบรชัวร์ที่บอร์ดของโรงเรียนที่ลูกสาวเรียนอยู่ 

"ส่วนตัวชื่นชอบกิจกรรมรูปแบบนี้ เพราะเวลาที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้ลูกๆ เขาจะไม่สนใจเท่าที่ควร หากมีวิทยากร มีสต๊าฟ หรือเพื่อนๆ เขาจะสนใจมากกว่า อย่างบทเรียนที่เขาได้ฟังจากวิทยากรตลอดช่วงกิจกรรม เราเห็นว่าเขาเหมือนเล่นสนุก หรือง่วงนอนบ้าง คล้ายจะไม่สนใจ แต่พออีกวัน เขาก็สามารถพูดถึงสิ่งที่วิทยากรเล่าให้ฟังได้" 

เช่นเดียวกับ นายธนาพันธน์ ธรรมกีรติวงศ์ พ่อของ "น้องโลมา" ด.ช.เหมรัศมิ์ ธรรมกีรติวงศ์ หนุ่มน้อยที่เติบโตมาในระบบโฮมสคูล จาก จ.ภูเก็ต ร่วมเล่าว่าเหตุผลที่ให้ลูกออกจากโรงเรียน เพราะรู้สึกว่าระบบการศึกษาค่อนข้างเป็นธุรกิจ บุคลากรในโรงเรียนไม่สามารถดูแลเด็กได้ทั่วถึง เมื่อถามลูกก็เลยตัดสินใจว่าออกดีกว่า เพราะลูกก็ชอบทำกิจกรรม ปลูกต้นไม้ เล่นน้ำ ตนเองและภรรยาก็ไม่ได้มุ่งหวังให้ลูกเรียนเก่ง

สำหรับกิจกรรมของศูนย์วิทย์ที่ครอบครัวได้มาร่วมเป็นครั้งแรกนั้น นายธนาพันธน์เล่าว่าทราบข่าวกิจกรรมนี้จากอินเตอร์เน็ต และเห็นว่าน่าสนใจ เพราะครอบครัวก็พยายามหากิจกรรมให้ลูกชายทำตลอด เมื่อได้มาร่วมก็ประทับใจ ทั้งกิจกรรม และเรื่องที่พักที่ต้องนอนเต็นท์ เพราะปกติก็พาลูกชายไปกางเต็นท์อยู่บ่อยๆ มาครั้งนี้ ก็หวังอยากให้ลูกมีเพื่อน 

นอกจากกิจกรรม "Family Science Camp" ศูนย์วิทย์เมืองคอน ยังรับจัดค่ายเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้กับโรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ ที่มีกันเข้ามาตลอดทั้งปี ไปจนถึงกิจกรรมอื่นๆ อาทิ "Science Summer Camp" "NSC Family Trip" "Science Show" "วิทย์เคลื่อนที่" ไปจนถึง "ต้นกล้าศูนย์วิทย์เมืองคอน" 

อีกทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์วิทย์ยังเตรียมจัดพิมพ์หนังสือ "ผีเสื้อ @ เขาขุนพนม" ที่ สุรเชษฐ์ ใหมเสน หรือ "บ่าว" นักวิชาการศึกษาประจำ ศูนย์วิทย์ ได้รวบรวมพันธุ์ผีเสื้อที่ค้นพบที่เขาขุนพนม มาจัดทำเป็นหนังสือเผยแพร่ให้ความรู้กับคนในท้องถิ่นและผู้ที่สนใจ 

จึงไม่น่าแปลกใจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราชจะคว้ารางวัล "กินรี" การประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มาได้ถึง 2 ครั้ง 

นายบัญญัติ ลายพยัคฆ์ ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช แม่ทัพคนสำคัญ บอกว่าอยากให้ศูนย์วิทย์เป็นเหมือน "พื้นที่เล็กๆ ความสุขแห่งการเรียนรู้" ตามสโลแกนที่ตั้งขึ้นมา เพราะอยากให้วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่สามารถเรียนรู้ และนำมาใช้ได้จริง ไม่ใช่การเรียนแบบท่องจำ โดยไม่ได้ประยุกต์กับศาสตร์อื่นๆ โดยเขาต้องการให้เด็กรู้จักคิด และได้เรียนรู้ไปพร้อมกับความสนุกสนาน 

ผอ.ศูนย์วิทย์เมืองคอน บอกอีกว่าสาเหตุที่ศูนย์วิทย์จัดกิจกรรมดูผีเสื้อเขาหลวง-เขาขุนพนม ขึ้นในรูปแบบของครอบครัวนั้น เพราะมองว่ากิจกรรมรูปแบบนี้น่าจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ หรือทักษะชีวิตของครอบครัว รูปแบบของกิจกรรมจะเน้นกระบวนการที่คนในครอบครัวมีส่วนร่วม มากกว่าจะมุ่งไปที่การเสาะแสวงหาความรู้ 

"อย่างวอล์ก แรลลี่ ทุกครอบครัวจะต้องปรึกษาว่าเดินป่าต้องเอาอะไรไปบ้าง เราให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจกันของคนในครอบครัว แทนที่ประโยชน์จะไปได้ที่ ตัวกิจกรรม ก็ไปได้ที่ครอบครัว จากที่ลูกเคยรับคำสั่ง ก็เป็นผู้นำบ้าง เด็กจะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง แม่บางคนบอกว่าไม่นึกมาก่อนว่าลูกตัวเองจะทำได้ เราเน้นให้เขาทำด้วยกัน ออกแบบให้พ่อแม่ลูกได้ทำกิจกรรมร่วมกัน" ผอ.ศูนย์วิทย์เมืองคอนกล่าว

ไม่เพียงกิจกรรมหลากรูปแบบที่ศูนย์วิทย์เมืองคอนสร้างสรรค์ขึ้นมาเท่านั้น พื้นที่ภายในศูนย์วิทย์ยังถูกออกแบบให้กลายเป็น "พื้นที่เล็กๆ ความสุขแห่งการเรียนรู้" อย่างแท้จริง 

เพราะจัดสรรพื้นที่ทั้งภายใน และนอกอาคารเป็นนิทรรศการต่างๆ ให้ผู้มาเยือน ได้เรียนรู้โดยไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียด ไม่ว่า จะเป็น "ความลับของพื้นพิภพ" "เปิดโลกธรณีวิทยา" "อวกาศ และดาราศาสตร์" "นิติวิทยาศาสตร์" "ดินมีชีวิต" หรือ "มังคุด ราชินีแห่งผลไม้" เป็นต้น 

เหล่านี้ คือ ความพยายามของคนกลุ่มเล็กๆ ที่จะทำให้ "วิทยาศาสตร์" เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเรียนรู้ได้จากธรรมชาติรอบตัว


ที่มา : www.khaosod.co.th