หลาดนอกท่าวิถีดั้งเดิมแห่งพรหมคีรี

 

หลาดนอกท่าวิถีดั้งเดิมแห่งพรหมคีรี

เช้าวันพุธที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗ ก่อนกลับสู่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทย์คอนฯ ชักชวนไปเดินตลาดเช้าที่ “หลาดนอกท่า” (ตลาดนอกท่า) อำเภอพรหมคีรี เป็นจังหวะก้าวของเท้าที่ชอบหนักหนากับการเดินตลาดดั้งเดิมที่มีกลิ่นคละคลุ้ง มีผักสดหลากหลาย มีเสียงของแม่ค้าพ่อค้า มีอาหารสดอาหารแห้ง ฯลฯ

ตลาดเป็นตัวชี้วัดอู่ข้าวอู่น้ำของพื้นที่ต่างๆ ว่ามีสิ่งใดอุดมสมบูรณ์ บ่งบอกอัตลักษณ์การกินอยู่ วิถีชีวิต การทำมาหากินของคนท้องถิ่น การขายของดั้งเดิมที่พ่อค้า-แม่ค้ายังใช้ตั่ง ม้านั่งเล็กๆ ในการนั่ง มีตะกร้าผัก ผลไม้ ร่มกางกันแดด แผงขายของ บ้างก็นั่งกับพื้น ปูผ้ายาง มาสะดุดตากับคุณยายวัยชราหลายคนนั่งขายผักพื้นบ้านรวมไปกับแม่ค้ารุ่นลูกและหลาน อาชีพของพวกเขาไม่ต้องกลัวว่าจะถูกปลดเกษียณ 

ถ่ายรูปพลางถามและพูดคุยกับคนขายว่า นี่ผักอะไร ทำอะไรกินได้ ทำยังไง บางอย่างต้องถ่ายๆ แล้วมาถามพี่ทิพย์ที่เขาขุนพนมโฮมสเตย์ว่าเรียกว่าอะไร ทำอะไรกินได้ อาหารท้องถิ่นภาคใต้มีผักหลากหลายมากมาย รสชาติก็ต่างกันไป ตลาดท้องถิ่นทำให้เห็นวิถีชีวิตผู้คน ตลาดคือปากท้องของผู้คน ถ้าคนไปเข้าโลตัส บิ๊กซี ซุปเปอร์มาร์เก็ตหมด เราจะเห็นภาพคนสูงอายุมานั่งขายผักไหม เห็นหลายคนอายุเยอะๆ มาขาย เชื่อว่าขายมาแต่ไหนแต่ไร ตลาดทำให้มีที่ทำมาหากิน แต่ทุกวันนี้นายทุนใหญ่ยังลงไปเบียดพื้นที่ตลาดสด ตลาดนัด เพื่อเอาของตัวเองไปขาย ฆ่าอาชีพดั้งเดิมของคนแก่คนเฒ่า คนหนุ่มคนสาวที่ต้องการขายผัก ผลไม้ ฯลฯ สิ่งที่พวกเขามีอยู่ และมีทักษะ เช่น การทำขนมและอาหาร นายทุนสามานย์ค่อยๆ ฆ่าและเข้าไปเบียดแย่งชิงพื้นที่ของชาวบ้าน ทำลายการทำมาหากินของพวกเขา ทั้งที่อาชีพของพวกเขา คนเล็กๆ ไม่มีวันจะถูกปลดเกษียณ นอกจากจะเลือกเกษียณด้วยตัวเอง และภาพของหญิงวัยชรานั่งขายผักอย่างเดียวหรือสองอย่าง ภาพแบบนี้เราคงไม่ได้เห็นหรอกว่านายทุนสามานย์จะรับพวกเธอเข้าทำงานในวัยชราแบบนี้ 

แม่ค้าหลายคนพอเห็นฉันถือกล้องถ่ายภาพ ต่างสนุกสนาน โพสต์ท่าให้ถ่าย ยิ้มให้เลนส์ส่อง พร้อมพูดกันดังว่า “ทุกคน ยิ้มๆ มองกล้องกันหน่อย ถ่ายภาพไปลงสารคดี” บางคนถึงกับพูดว่า “วันนี้แต่งตัวไม่สวย ชุดไม่สวย ใส่ผ้าถุงมา ไม่เอา ไม่ถ่ายแม่ค้านะ ถ่ายแต่ของพอ”

 

 

 


อีกเจ้าที่ประทับใจคือ แผงขายปลาโคบ พี่คนขายบอกว่า “ปลาโคบน้อง คอ โอ บอ โคบ จดลงไปเลยน้องว่าเป็นปลาจากอ่าวไทย นี่ตัวเป็นๆ แล้วเอาทำแบบนี้ได้แบบนี้ ก่อนไปทำเป็นเส้น” ฉันถามพี่คนขายอยู่นานเพราะอยากซื้อปลาโคบไปฝากที่บ้าน เอาไว้ทอดกิน โดยเฉพาะที่เป็นเส้นๆ คล้ายกับเป็นปลาแดดเดียว ถามว่าต้องทำอย่างไรบ้าง พี่คนขายน่ารักมาก “ปลานี่ซื้อไปต้องเก็บในตู้เย็นเลยนะ จะไม่เสีย ดูเหมือนเป็นปลาแห้งแต่ควรเก็บเข้าตู้เย็นหลังจากซื้อ จะดีกว่า” ฉันถามต่อว่า “ไม่มีตู้เย็น แต่จะซื้อกลับต่างจังหวัด แล้วส่งไปให้ที่บ้าน” พี่คนขาย “พี่ไม่แนะนำ อย่าซื้อเลย อยากให้ได้กินดีๆ ถ้าน้องซื้อทำกินวันนี้ หรือมีตู้เย็นเก็บแช่ไว้ได้ แต่ถ้าน้องต้องซื้อส่งพัสดุไปให้ที่บ้าน แค่ค้างคืนระหว่างน้องนั่งรถไฟกลับกรุงเทพฯ ก็ไม่แนะนำให้ซื้อเลยนะ” ฉันได้แต่กล่าวขอบคุณพี่คนขายที่ให้คำแนะนำ ไม่ตั้งหน้าตั้งตาแต่จะเน้นขายของอย่างเดียว มุ่งให้คำแนะนำและยังไม่แนะนำให้ซื้อ ไม่ประนีประนอมเพื่อขายให้กับฉัน ชอบมากเลย

 

(ปลาโคบ ที่พี่คนขายบอกว่าต้องระบุว่าเป็นปลาจากอ่าวไทยด้วยนะ นี่คือแบบสำเร็จออกมาเป็นเส้น)


ไม่ใช่แค่เพียงตลาดท้องถิ่น ห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นที่ไม่ใช่แบรนด์เฟรนไชส์ ยังเป็นอีกสถานที่ที่ฉันชอบแวะเวียนเข้าไปเวลาเดินทางออกต่างจังหวัด หรือแม้แต่ในต่างประเทศ เพราะเติบโตมากับความดั้งเดิมแบบนั้น เมื่อกลับไปเดิน ได้เห็นวิถีดั้งเดิม ความสุขเดิม ความทรงจำดั้งเดิมในวัยเด็ก ย่อมกระเพื่อมในหัวใจในซอกของความทรงจำเสมอ 

ความสุขของฉันเดินทางเพลินจนเกือบจะลืมซื้อของกินในตลาดดั้งเดิม พอตลาดวายของที่หิ้วติดมือมาด้วย ได้ขนมเทียนมาอย่างเดียว 

บันทึกกาลเดินทาง “ดูผีเสื้อเขาหลวง...เขาขุนพนม” ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช เขาขุนพนม อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ ๒๘-๒๙ เมษายน ๒๕๕๗

ออกเดินทางโดย นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ

(ข้าวต้มมัดมาเป็นคู่)

 

 

 

(อร่อยมาก)

 

 

 

(ผึ้งคั่ว น่ากินมาก ชามละ ๕๐ บาท)

 

(อาหารใต้ขาดไม่ได้เลย)

 

 

 

(เครื่องแกงใต้)

 

 

 

(ยอดมันกับยอดชะอม)

 

(ดอกดาหลา เอาไว้โปรยหน้าข้าวยำ ออกรสเปรี้ยว สร้างสีสัน ดอกตูมแบบนี้สวยกำลังดี)

 

(ยอดผักกูด อร่อยมากๆ ราดกับน้ำกะทิ)

 

 

(ขนมปะดา มีเฉพาะที่นครศรีฯ เท่านั้น เพื่อนบอกมา)

 

(ขนมเทียน ๗ ชิ้น ๑๐ บาท)

 

(อย่าลืมตะกร้าจ่ายตลาด)